ประวัติ กาวตราช้าง

รู้หรือไม่ว่า กาวตราช้าง หรือ “ไซยาโนอะคริเลต” นั้นถูกค้นพบโดยบังเอิญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กาวช้างเคนจิ ขอพาย้อนไปดูจุดเริ่มต้นเมื่อกว่า

เมื่อปี ค.ศ. 1942 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.แฮร์รี่ คูเวอร์ นักประดิษฐ์หนุ่มชาวอเมริกันวัย 25 ปี ได้รับมอบหมายให้ค้นคว้าหาวิธีผลิตศูนย์เล็งปืนที่ทำจากพลาสติกใสเพื่อนำไปใช้สำหรับประกอบอาวุธของกองทัพฝ่ายพันธมิตร

ขณะที่เขากำลังทดลองสูตรเคมีหลายหลายชนิด ปรากฏว่าหนึ่งในสูตรที่ ดร.คูเวอร์ คิดค้นขึ้นมานั้น ทำให้เกิดสารที่มีคุณสมบัติยึดตัวได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรง แต่เขาไม่ได้ใส่ใจกับสูตรเคมีดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะนอกจากมันจะเหนียวเกินไปแล้ว มันยังไม่เหมาะจะนำไปใช้ประกอบศูนย์เล็งปืนที่เขากำลังค้นคว้าอยู่

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เมื่อปี ค.ศ. 1951 ซึ่งเป็นช่วงที่ ดร.คูเวอร์ ได้ทำงานอยู่ที่บริษัท อีสต์แมน โกดัก (Eastman Kodak) ในตำแหน่งหัวหน้าทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และได้รับมอบหมายให้คิดค้นสารอะคริเลตโพลีเมอร์ที่ทนความร้อนได้ดี เพื่อนำไปใช้กับหลังคาเคื่องบินเจ็ต เพื่อนร่วมงานของเขาที่ชื่อว่า เฟร็ด จอยเนอร์ (Fred Joyner) ได้ทดลองนำสาร “ไซยาโนอะคริเลต” สูตรเดิมที่ ดร.คูเวอร์ เคยค้นพบในช่วงสงครามโลก มาทดลองใช้ติดยึดเครื่องวัดการหักเหของแสง และพบว่ามันใช้งานได้ดีจนน่าประหลาดใจ

เหตุการณ์นั้นทำให้ ดร.คูเวอร์ กลับมาสนใจ “ไซยาโนอะคริเลต” อีกครั้ง และในครั้งนี้เขามองเห็นถึงศักยภาพของมันในฐานะผลิตภัณฑ์สำหรับยึดติดพื้นผิวหลายชนิด และเริ่มพัฒนามันเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 1958 บริษัท อีสต์แมน โกดัก ได้เริ่มวางจำหน่าย กาวตราช้าง หรือ “ซูเปอร์กลู” (Super Glue) เป็นครั้งแรกในชื่อ Eastman #910

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ช่วยทำให้ กาวตราช้าง กลายเป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ คือ เทปรายการโทรทัศน์ I’ve Got a Secret ซึ่งมี แกร์รี มัวร์ (Garry Moore) เป็นดารารับเชิญ ซึ่งรายการได้นำกาว อีสต์แมน #910 หนึ่งหยดมายึดแผ่นเหล็กเข้าหากันและดึงมัวร์ขึ้นกลางอากาศ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติในการยึดติดของกาวชนิดนี้

สำหรับในประเทศไทย กาวตราช้าง เคนจิ เป็นหนึ่งในกาว “ซูเปอร์กลู” ยี่ห้อแรกๆ ที่เริ่มจำหน่ายในประเทศ โดยวางขายครั้งแรกเมื่อปี 1985 และทำให้สินค้าชนิดนี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปจากรูปสัญลักษณ์ช้างสีเหลือง และโฆษณาทีวี ซึ่งทำให้เป็นที่พูดติดปากกันว่า “กาวช้าง ของแท้ ต้องเคนจิ” โดยปัจจุบัน กาวตราช้าง นั้นกลายเป็นชื่อเรียกทั่วไปสำหรับ ไซยาโนอะคริเลต ในประเทศไทย

ส่วนประกอบทางเคมีของ กาวตราช้าง

โครงสร้าง Cyanoacrylate

สูตรโมเลกุลทั่วไปของไซยาโนอะคริเลต หรือที่มีชื่อเรียกในอุตสาหกรรมว่า “CA” เป็นชื่อเรียกทั่วไปของวัสดุทางเคมีที่มีคุณสมบัติยึดติดแบบแห้งเร็ว ซึ่งอาจรวมถึง กาวตราช้าง (ethyl-2-cyanoacrylate) หรือ สารยึดติดที่ใช้ทางการแพทย์และศัลยกรรม (n-butyl-cyanoacrylate) โดยอาศัยน้ำหรือความชื้นเพียงเล็กน้อยเป็นตัวกระตุ้นการแข็งตัว ซึ่งตามปกติแล้วจะอาศัยความชื้นที่อยู่บนวัสดุที่ต้องการนำมายึดติดอยู่แล้ว

แม้ว่า ไซยาโนอะคริเลต จะถูกค้นพบโดย ดร.คูเวอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กว่า “ซูเปอร์กลู” จะเริ่มวางจำหน่ายนั้นสงครามก็ได้สิ้นสุดลงแล้วหลายปี อย่างไรก็ตาม กาวตราช้างนั้นยังถูกนำไปใช้ในสนามรบหลายครั้ง โดยมันสามารถช่วงปิดบาดแผลของทหารในขณะนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเย็บบาดแผลต่อไป ซึ่งในปัจจุบัน ไซยาโนอะคริเลต ยังคงถูกใช้ร่วมกับการเย็บแผลในหลายกรณีอีกด้วย ทั้งนี้ ดร.คูเวอร์ ยังเป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานอีกมากมาย และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 460 รายการ

อ้างอิงข้อมูล: CBS News และ TIFO